fbpx
READING

เราจะเป็นฟรีแลนซ์ที่ดี ตอน สัมภาษณ์คุณหมอ...

เราจะเป็นฟรีแลนซ์ที่ดี ตอน สัมภาษณ์คุณหมอ

ฉันเป็นนักเขียนฟรีแลนซ์มาได้เกือบ 3 ปีแล้วค่ะ เรื่องชีวิตการเป็นฟรีแลนซ์เคยเขียนเล่าไว้พอสมควรแล้วทั้งในเว็บ Storylog และนิตยสาร Read Me ฉบับ 35 ทางเลือกที่ต้องแลกของคน Gen Y ที่เป็นบรรณาธิการคู่กับพี่โกเฮงและรับผิดชอบเขียนหัวข้อฟรีแลนซ์ด้วย ใครสนใจตามไปอ่านกันได้นะคะ (พื้นที่โฆษณา)

Advertisements

ส่วนในคอลัมน์ ‘Gossip Freelancer’ ฉันจะมาเมาท์มอยเรื่องนู้นเรื่องนี้ที่พบเจอระหว่างทำงานฟรีแลนซ์ให้อ่านกันเพลินๆ ค่ะ ตอนแรกขอประเดิมด้วยการเล่าถึง ‘การสัมภาษณ์คุณหมอ’ เพราะมีช่วงหนึ่งเราได้ทำงานสัมภาษณ์คุณหมอเยอะมาก 20-30 คน ซึ่งก็มีคุณหมอหลายประเภททีเดียวที่น่าจดจำ ขอหยิบยกมาเล่าให้ฟัง 4 ประเภทค่ะ

คุณหมอสูงวัย

คุณหมอประเภทนี้ถ้าได้เจอทีไรจะปลื้มปริ่มแทบทุกครั้ง เพราะส่วนใหญ่พวกท่านจะเป็นปรมาจารย์ประสบการณ์สูง ผ่านเคสหลากหลายรูปแบบมาอย่างโชกโชน รู้ลึก รู้จริง มีมุมมองและทัศนคติที่น่าสนใจ ลักษณะร่วมกันของคุณหมอสูงวัยที่พบบ่อยคือท่านจะสามารถเล่าถึงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บได้เป็นฉากๆ มีลำดับขั้นของการอธิบายชัดเจน ภาษากลั่นกรองมาให้เข้าใจง่าย เลิฟสุดๆ เลยค่ะ

เคสที่ประทับใจเป็นพิเศษคือคุณหมอท่านหนึ่งที่เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดระดับแถวหน้าของเอเชีย อายุท่านถึงวัยเกษียณแล้ว ลูกชายก็เรียนจบปริญญาและเป็นหมอเหมือนคุณพ่อด้วย ทั้งภรรยาและลูกบอกตลอดว่าอยากให้คุณพ่อหยุดทำงานได้แล้ว แต่ท่านก็ยังอยากทำงานต่อ ระหว่างที่นั่งคุยกัน คุณหมอยกมือสองข้างขึ้นมาแล้วพูดกับฉันว่า “นิ้วมือของผมมีกล้ามเนื้อเล็กๆ อยู่เต็มไปหมด ผมผ่าตัดทุกวัน ฝึกฝนกล้ามเนื้อเล็กๆ เหล่านี้ทุกวัน ถ้าวันไหนที่ผมหยุดทำงานประสิทธิภาพของมันก็จะลดลง ผมเลยยังอยากทำงานต่อไป” ระหว่างเล่าแววตาคุณหมอก็เป็นประกาย ดูอินและมีความสุขกับการเป็นหมอมากๆ คนที่ได้เจองานที่ตัวเองทั้งรักและทำได้ดีเขามีความสุขกันแบบนี้นี่เอง

คุณหมอท่านนี้ประจำการอยู่ในโรงพยาบาลเอกชนค่ะ แต่บางทีเวลามีคนไข้มาตรวจ ถ้าแค่ตรวจเฉยๆ ยังไม่ได้ทำหัตถการอะไรมาก ท่านก็มักจะตรวจให้ฟรีแบบไม่คิดเงินค่าธรรมเนียมแพทย์

ฉันถามกลับไปว่า “ทางโรงพยาบาลเขาไม่ว่าเหรอคะที่หมอไม่คิดเงินคนไข้”
“ไม่มีใครว่าหรอก ผมเป็นเพื่อนกับผู้อำนวยการโรงพยาบาล” คุณหมอตอบพร้อมกับยิ้มมุมปาก

เยี่ยมเลยค่ะ…!

คุณหมอผู้ทุ่มเท

อย่างที่เรารู้ๆ กันว่า อาชีพหมอไม่ค่อยมีเวลาว่างกันสักเท่าไหร่ เวลาจะพักผ่อนยังหายากเลย แล้วยังต้องมานั่งให้สัมภาษณ์อีก เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา คุณหมอหลายๆ ท่านเลยมักจะนัดฉันในเวลาที่มาเข้าเวร ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะคุยกันในห้องตรวจเป็นหลัก บางทีคุยๆ อยู่พยาบาลก็ถือชาร์จคนไข้เข้ามากดดัน “คนไข้ที่นัดมาแล้วนะคะ” ทำให้ฉันต้องรีบตัดจบคำถามให้เร็วยิ่งขึ้น หรือบางทีไปนั่งรอเก้อไม่ได้สัมภาษณ์ก็บ่อยครั้งเพราะคุณหมอติดคนไข้กระทันหันเสียก่อน เหตุการณ์พวกนี้เจอจนชินและก็เข้าใจนะคะว่าความสำคัญของคนไข้ต้องมาก่อนเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว

แต่เคสที่ได้ใกล้ชิดกับการทำงานของคุณหมอมากที่สุด คือตอนที่ไปสัมภาษณ์คุณหมอกุมารเวชท่านหนึ่ง ซึ่งกำลังเฝ้าติดตามอาการของทารกแรกเกิดที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ ครั้งนั้นเราต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดปลอดเชื้อ แล้วเข้าไปนั่งสัมภาษณ์คุณหมอหน้าห้องคนไข้ตัวน้อย เพราะคุณหมอต้องคอยติดตามอัตราการเต้นของหัวใจของเด็กตลอดเวลา หมอบอกว่านี่เฝ้าจนไม่ได้กลับบ้านไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวันมา 3 วันแล้วจ้ะ เอ่อ…ได้ฟังแบบนี้แล้วก็รู้สึกผิดขึ้นมาทันที จริงๆ เราเลื่อนนัดกันไปก่อนก็ได้นะคะ

พอเลือกแล้วว่าจะเป็น ‘หมอ’ ก็ต้องแลกกับหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตมากมาย บางคนแทบไม่เหลือเวลาพักผ่อนหรือแม้กระทั่งเวลาที่จะได้อยู่กับครอบครัว และต้องเสียสละความสุขส่วนตัวอื่นๆ อีกมากมาย ขอให้คุณหมอทุกท่านสู้ต่อไป!

คุณหมอขอเมาท์

สิ่งหนึ่งที่ลำบากพอสมควรในการทำงานสัมภาษณ์คือเวลาเจอคนไม่ค่อยพูดค่ะ คุณหมอบางคนถามคำตอบกลับมาแค่ครึ่งคำ กว่าจะคุยกันจบครบถ้วนก็ต้องใช้กระบวนท่าสารพัดเพื่อขุดคำตอบออกมาให้ได้ แต่จะมีคุณหมออีกประเภทที่ตรงกันข้าม คือเล่ารายละเอียดของโรคต่างๆ ได้อรรถรสมาก เล่าเรื่องมดลูกก็อธิบายสนุกซะจนเราเห็นภาพมดลูกมาตั้งอยู่ตรงหน้า อวัยวะนั้นมันเชื่อมโยงกับอวัยวะนี้แล้วมันจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ฟังเพลินไม่แพ้คลับฟรายเดย์เลยทีเดียว ส่วนใหญ่คุณหมอที่เล่าเรื่องสนุกๆ ทั้งหลายจะเป็นพวกอาจารย์หมอตามโรงเรียนแพทย์ต่างๆ เพราะเขาสอนนักเรียนประจำจนเชี่ยวชาญทักษะการสื่อสารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เวลาได้คุยกับคุณหมอแบบนี้จะอิ่มเอมมากทีเดียว แต่ตอนแกะเทปนี่ไม่เอมเท่าไหร่ค่ะ เพราะไฟล์เสียงที่อัดมามักจะยาวกว่าปกติ 2-3 เท่า หึ…อรรถรสมั้ยล่ะแกรรร

คุณหมอหล่อ

อันนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก ฟินกันไปตามระเบียบค่ะ

 

ช่วงที่เข้าออกโรงพยาบาลบ่อยๆ นอกจากจะได้พูดคุยคุณหมอมากหน้าหลายตาแล้ว ฉันยังได้สังเกตบรรยากาศรอบโรงพยาบาลแทบทุกแผนก และพบว่ามีชาวต่างชาติจำนวนไม่น้อยนิยมใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลก็จะเจาะกลุ่มลูกค้าแตกต่างกันออกไป โรงพยาบาลไหนมีลูกค้าจากประเทศอะไรเยอะเป็นพิเศษ เขาก็จะจัดห้องรับรองไว้เพื่อชาวต่างชาติโดยเฉพาะ มีป้ายอธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ ที่เป็นภาษานั้นอย่างจริงจัง เหตุผลที่ทำให้ตลาดคนไข้ต่างชาติเติบโตก็มีหลายส่วนด้วยกันทั้งนโยบายของรัฐที่ช่วยผลักดัน นโยบายของโรงพยาบาลเอง และหนึ่งในนั้นก็คือนโยบายของบริษัทประกันภัยที่ต้องการลดต้นทุน จึงส่งคนไข้จากประเทศที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยแทน แล้วเขาก็ไม่ได้มากันเล่นๆ นะคะ แต่มีเอเจนท์เฉพาะทางที่ให้บริการ ‘การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ (Medical Tourist) เป็นผู้พามา โดยเอเจนท์จะช่วยจัดเตรียมเอกสาร นัดหมายกับโรงพยาบาล ให้คำปรึกษาต่างๆ กับคนไข้ และส่งล่ามมาให้บริการด้วยในกรณีที่โรงพยาบาลไม่มีล่ามภาษานั้นๆ รองรับ

อันที่จริงฉันเคยคิดจะเลิกเป็นฟรีแลนซ์อยู่หลายรอบเหมือนกัน เพราะเหนื่อยใจกับตารางเวลาที่ไม่ค่อยแน่นอน งานส่วนใหญ่ก็มักจะด๊วนด่วน ส่วนเรื่องเงินออกช้านี่โคตรปกติค่ะ ต้องทำใจจนเจ็บและชินไปเอง แต่นั่นแหละค่ะเผลอแป๊บเดียวก็ทำมาเกือบ 3 ปีแล้ว…เลิกไม่ได้สักที เพราะเสน่ห์ของงานฟรีแลนซ์ก็ยังมีอีกเยอะ อย่างการได้พูดคุยกับคุณหมอมากหน้าหลายตาและได้ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับธุรกิจโรงพยาบาล ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานที่สนุกทีเดียว

Good To Know

ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2559 ระบุว่า ในปีพ.ศ. 2558 ที่ผ่านมา รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนมาจากกลุ่มคนไข้ต่างชาติมากถึงร้อยละ 30 ของรายได้ทั้งหมดของโรงพยาบาลเอกชน โดยตลาดที่น่าสนใจยังคงเป็นเมียนมาร์และตะวันออกกลาง ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลจากเว็บไซต์สยามธุรกิจ วันที่  27 เมษายน พ.ศ. 2559 ที่นางอลิสา อินเทเสนี ประธานกรรมการบริหาร ไพร์มเมดิกากรุ๊ป ให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยมีชื่อเสียงในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) แห่งเอเชีย และเป็นที่ยอมรับในด้านการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางการแพทย์ ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 40% จากตลาดท่องเที่ยวทางการแพทย์ทั่วโลก เนื่องจากเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาค ด้วยจุดเด่นด้านเทคโนโลยี บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความชำนาญ การให้บริการที่มีคุณภาพจากสถาบันทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานสูง

อ้างอิง :
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
สยามธุรกิจ


COMMENTS ARE OFF THIS POST