fbpx
READING

ถ้าขึ้นแบบนี้ คุณโดน Data Breaching แล้วล่ะ!?!...

ถ้าขึ้นแบบนี้ คุณโดน Data Breaching แล้วล่ะ!?!

ฟังทางนี้ 📢คุณอาจกำลังเป็นตกเหยื่อของ Data Breaching แล้วก็เป็นได้ 😭 

data breaching

ช่วงนี้ มีกระแสคนโดน Cibercrime อาทิ โดนแฮกเลขบัตรเครดิตไปซื้อของ โดนแฮก Facebook หรือ Instagram มีเบอร์มิจฉาชีพโทรมา ได้ SMS แปลก ๆ จนเดือดร้อน ไปตาม ๆ กัน 

 

บีเองก็เพิ่งตกเป็นเหยื่อของการโดนแฮก Amazon Account ที่เคยสมัครไว้ช้อปปิ้งออนไลน์ตอนเรียนต่อโทที่ฝรั่งเศส โดนแฮกเกอร์สั่งซื้อเครื่องดูดฝุ่นกว่า 80 ยูโรในชื่อของบีเลย ไปส่งที่แคว้นชนบทในฝรั่งเศส ส่งแบบ 1-Day Delivery ส่งด่วนได้รับสินค้าภายใน 1 วัน (นังมิจฉาชีพมันรีบช้อปหรา) ทั้ง ๆ ที่บีเอง ไม่ได้บินกลับไปฝรั่งเศสมาเกิน 5 ปีแล้ว ล่าสุดก็คือต้องอายัดบัตรเครดิตไปหมาด ๆ และติดต่อ Amazon ของคืนเงินไปเรียบร้อยค่ะ 

ด้วยความเจ็บใจ โกรธแค้น วันนี้บีจะมาแนะนำวิธีการที่เราสามารถป้องกันตัวจากมิจฉาชีพออนไลน์เหล่านี้กัน บีจะค่อย ๆ ทยอยปล่อยโพสต์ออกมาทีละเรื่องนะคะ เพราะว่าต้องใช้เวลาเตรียมเนื้องหาอยู่ประมาณนึง หวังว่าจะสามารถช่วยให้เพื่อน ๆ ป้องกันตัวเองได้ ไม่ต้องมาแก้ปัญหาทีหลัง แล้วบ่นว่ารู้งี้นะ…แบบบี 

เพราะไม่แน่ คุณอาจกำลังตกเป็นเหยื่อของสิ่งที่เรียกว่า “Data Breaching” หรือ การโดนละเมิดเอาข้อมูลส่วนตัวอาทิ Username และ Password ของคุณไปปล่อย แล้วก็เป็นได้

——————————————–

มาเช็คดูกันก่อนดีกว่าข้อมูลของคุณโดน Data Breaching แล้วหรือยัง?

ขอแนะนำ 2 วิธีที่บีใช้กับตัวเองนะคะ

(จริงๆ แล้วถ้าใครโปรกว่านี้ เขาอาจจะใช้โปรแกรมรักษาความปลอดภัยที่คอมพิวเตอร์มีในการตรวจสอบได้ค่ะ)

1. สำหรับคนที่ชอบใช้เว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome ในการจดจำรหัสผ่านให้ สามารถใช้ Google Password Manager เช็คความปลอดภัยของรหัสที่บันทึกได้ เข้า https://passwords.google.com/ แล้วดู Tutorial ที่บีทำไว้ให้ในแต่ละรูปได้เลยค่ะ 

  1. ถ้าปกติไม่ได้ใช้ เว็บเบราว์เซอร์ Google Chrome ในการจำรหัสผ่าน สามารถเอาอีเมลที่เราไปใช้สมัครสมาชิกในเว็บต่าง ๆ มาเช็คความปลอดภัยได้จาก https://haveibeenpwned.com/

ถ้าข้อมูลแสดงผลออกมาว่าโดน Data Breaching แล้ว แนะนำให้ไปเปลี่ยนรหัสผ่านแบบด่วน ๆ เลยนะคะ และจะให้ดี หลีกเลี่ยงการใช้รหัสผ่านเดียวกันสำหรับทุกเว็บนะคะ เพราะถ้าข้อมูลรั่วไหลไปแล้ว Hacker ก็จะเข้า account ไหนของคุณก็ได้เลยค่ะ หรือเขาอาจเอา Username & Password ที่มีไปเดา Log in เว็บนู้นเว็บนี้แบบสุ่ม ๆ แล้วก็ดันเข้าได้โดยง่ายเลย เพราะคุณใช้รหัสเดียวเข้าทุกเว็บ คือ ถ้ามันแฮก Paypal, Lazada, Shopee หรือธนาคารของคุณได้ เดี๋ยวจะต้องมาเช็คน้ำตาที่หลังแทนนะคะ

 

แนะนำว่าควรมีชุดรหัสที่แตกต่างกัน อย่างน้อย 3 ชุด ไว้ใช้กับ

1. บัญชีสำคัญ อีเมลหลัก ลิงก์กับธนาคาร
2.บัญชีทั่วไป อาจจะเป็นพวกบัญชี Social Media
3.บัญชีแปลกใหม่ พวกแอพเกมส์ หรือเว็บที่ไม่ค่อยน่าไว้ใจ เพราะบางทีข้อมูลเรารั่วไหล เพราะไปสมัครสมาชิกเว็บมั่ว ๆ พวกนี้แหละค่ะ เหมือนตั้งใจสร้างมาเพื่อดูข้อมูลส่วนบุคคลของคุณเลย 

หรือใครที่ทุ่มเทหน่อยกับการรักษาความปลอดภัย จะจ่ายตังใช้พวก Password Manager โปรแกรมในการช่วยคิดรหัสที่ซับซ้อน ๆ ให้คุณก็ได้ค่ะ  

 

และจะให้ดี ควรเปลี่ยนรหัสผ่านทุก ๆ 3 เดือนนะคะ เพราะเราไม่สามารถรู้ว่า เว็บต่าง ๆ ที่เราสมัครไป จะโดน Hack แล้วข้อมูลรั่วไหลไปอีกเมื่อไหร่ 

———————————————


โดน Data Breach แล้วจะเกิดอะไรขึ้น

 

พอเอาข้อมูลอีเมลไปเช็ค ปรากฏว่าโดน Data Breach แล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นเกิดอะไรขึ้นเลย ก็ยังปลอดภัยดีนี่นา 

 

เรียนแจ้งอย่างนี้ค่ะ การที่โดนเอาข้อมูล Username & Password ไปเผยแพร่ ไม่ได้หมายความว่า Hacker ได้เคยแฮกเข้ามาใน account ของคุณแล้วนะคะ คุณอาจจะยังโชคดีที่ยังไม่โดนแฮก

ถ้าเปรียบ Username & Password เป็นกุญแจบ้าน การโดน Data Breach คือการที่มีคนก็อปกุญแจบ้านของคุณ (Password) ไปวางไว้ที่สมาพันธ์โจรแห่งโลกออนไลนค์ค่ะ แถมมีแผนที่บ้านอธิบายอย่างละเอียดว่าบ้านของคุณตั้งอยู่ตรงไหน (Account & Username) ถ้าโจรอยากจะปล้นบ้านไหน ก็แค่ไปเบิกกุญแจมาปล้นได้เลยค่ะ 

 

เห็นความอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแล้วใช่ไหมคะ? 

 

แล้วยิ่งถ้า Account ที่สมัครมีข้อมูลเกี่ยวกับบัตรเครดิตของคุณอีก ก็ย่อมเปิดโอกาสให้โจรขโมยเลขบัตรเครดิตของคุณไปช้อปปิ้งได้โดยง่าย 

 

ตอนนี้เลยอยากให้ทุกคนลองไปเช็คข้อมูลกันดูก่อนค่ะว่าโดน Data Breaching ไปแล้วหรือยัง โดนเมื่อปีไหน ถ้าโดนก็รีบเปลี่ยนรหัสผ่านซะ และเพื่อความปลอดภัยอีกขั้นควรเปิดใช้ Two-factor Authentication เพื่อรับรหัสผ่านยืนยันตนจาก SMS, E-mail, Google หรือ Microsoft Autenticator อีกทางนะคะ เดี๋ยววันหลังจะมาสอนว่าต้องทำอย่างไร 

 

สำหรับวันนี้ มาแนะนำวิธีเช็คสถานะความปลอดภัยของอีเมลเบื้องต้นไปก่อน เดี๋ยววันอื่น ๆ จะกลับมาพร้อมกับเทคนิคการเพิ่มความปลอดภัยใดด้านอื่น ๆ ให้ค่ะ

สำหรับวันนี้ต้องลาไปก่อนค่ะ ขอบคุณที่อ่านจนจบค่ะ ถ้าเห็นว่าโพสต์นี้มีประโยชน์ก็ช่วยแชร์กันออกไป เป็นกำลังใจให้ผู้เขียนหน่อยนะคะ

ด้วยรักและปรารถนาดี
จาก บีเว่อร์ 
AroundTheGirlz.com 


Background vector created by blossomstar – www.freepik.com


#AroundTheGirlz #DigitalTricks #DataBreaching #DigitalProtection #DigitalSafety #UsernamePassword #GooglePasswordManager #haveibeenpwned


RELATED POST